Publisher: | ฟ้าเดียวกัน |
Genres: | สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา |
Authors: | นาโอมิ ไคลน์ |
Pages: | 560 pages |
Binding: | Softcover |
ISBN13: | 9786167667010 |
Available: | 8 |
Translator: | เพ็ญนภา หงษ์ทอง |
เนื้อหาในโนโลโก้ คล้ายจะเสนอภาพให้เห็นว่า บรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและพลเมืองในรัฐชาติหนึ่งๆ แต่ไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่สุดจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่โนโลโก้ ได้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นคือแนวโน้มที่ว่า การเป็นผู้บริโภคที่มีสำนึกต่อส่วนรวมไม่ใช่เรื่องง่าย และการเท่าทันการบริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามและเชื่อมโยงวิถีชีวิตประจำวันเข้ากับอิทธิพลของบรรษัทระดับโลก
ในระดับปัจเจก โนโลโก้ได้โยนประเด็นปัญหาหลายประการให้แก่ผู้อ่าน เป็นต้นว่า หากการสร้างตรายี่ห้อจะมีความหมายเพียงการเป็นผู้ช่วยสำหรับการเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาด เราคงไม่เห็นเด็กวัยรุ่นผิวดำในชุมชนแออัดก่ออาชญากรรมเพียงเพื่อจะได้ครอบครองรองเท้าไนกี้รุ่นใหม่สักคู่ การเลือกซื้อตุ๊กตาเพื่อเป็นของขวัญตัวต่อไปอาจทำให้ผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะกระหวัดคิดถึงฉากสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับโรงงานนรก หรือการกระตุกให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าการเลือกซื้อแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อดังระดับโลกสักชิ้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างที่เอารัดเอาเปรียบในอีกฟากโลกหรือไม่
คำถามที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นผู้บริโภคเชื่องๆ กับความเป็นพลเมืองของโลกที่มีศักดิ์ศรีคืออะไร ไม่ว่าปรัชญาจูจิตสึที่นาโอมิ ไคลน์ได้พูดถึงไว้ จะช่วยให้คนตัวเล็กๆ สามารถอาศัยความใหญ่โตของศัตรูโค่นตัวมันเองได้หรือไม่ ภาพการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้โลกาภิวัตน์ของบรรษัทตามจุดต่างๆ บนโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนตัวอย่างของการโต้กลับที่นำเสนอทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ อาจนำมาสู่การทำความเข้าใจคำพูดของผู้เขียนที่ว่า ท้ายที่สุดประชาชนคือคนที่มีอำนาจและต้องเป็นผู้ลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลง