Publisher: | ฟ้าเดียวกัน |
Genres: | ประวัติศาสตร์, นิติศาสตร์ |
Authors: | ปิยบุตร แสงกนกกุล |
Pages: | 232 pages |
Binding: | Softcover |
ISBN13: | 9786167667461 |
Available: | 0 |
Checked Out
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความของปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” และแนวความคิดของ “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ และวารสาร ฟ้าเดียวกัน แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุงใหม่ ที่ผ่านมาตำรับตำราเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญของนักวิชาการไทย ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ที่การอธิบายเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ และที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการศึกษารัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบของประเทศต่างๆ หรือประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางการเมืองของเรา
ทว่าต่างไปจากงานอื่นๆ ที่ผ่านมา งานของปิยบุตร แสงกนกกุลได้ชี้ชวนให้เราให้ความสำคัญและทำความเข้าใจต่อความหมายที่เป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ” ในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของมนุษย์
หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด โดยตัวของมันเองแล้ว รัฐธรรมนูญ ก็คือ การปฏิวัติ
ท่ามกลางพัฒนาการของรัฐสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญถือเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อแตกหักกับระบอบการเมืองเก่าแล้วเข้าสู่ระบอบการเมืองใหม่
ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลงานรังสรรค์ของมนุษย์หรือ “ประชาชน” -มิใช่สิ่งที่พระเจ้าหรือผู้ปกครองอภิชนในสังคมเก่าประทานลงมาให้-อันแสดงออกซึ่งศักยภาพในการเป็นผู้ทรงอำนาจก่อตั้งรูปแบบการเมืองที่ตนปรารถนา
ดังนั้น เมื่ออาศัยข้อความคิดรัฐธรรมนูญเช่นนี้มาพิจารณาการเมืองไทยปัจจุบัน นักวิชาการหนุ่มแห่งนิติราษฎร์จึงเสนอว่า สิ่งที่สำคัญกว่าในการพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย จึงไม่ใช่มุ่งจมไปยังการแสวงหารูปแบบองค์กรการเมืองหรือการออกแบบสถาบันการเมืองที่ “เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย” แต่คือการแสวงหา “ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นปมปัญหาหัวใจสำคัญแห่งยุคสมัยต่างหาก
ด้วยที่เกริ่นมาทั้งหมดข้างต้น จึงคงไม่เกินเลยไป หากเรา-ฟ้าเดียวกัน-จะ ภูมิใจนำเสนอว่า งานของปิยบุตร แสงกนกกุลเล่มนี้ จะเป็นฐานทางภูมิปัญญาหนึ่งให้แก่ “การเปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชน ณ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญแห่งยุคสมัยของสังคมนี้