Publisher: | ฟ้าเดียวกัน |
Genres: | รัฐศาสตร์ |
Authors: | ประจักษ์ ก้องกีรติ |
Pages: | 300 pages |
Binding: | Softcover |
ISBN13: | 9786167667362 |
Available: | 0 |
Checked Out
คำนำสำนักพิมพ์
ในการเมืองมีวัฒนธรรม และในวัฒนธรรมมีการเมือง
คือสิ่งที่ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้สะท้อนให้เห็นในหนังสือ การเมืองวัฒนธรรมไทย : ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ เล่มนี้
หากพิจารณาจากวาระการตีพิมพ์บทความทั้ง 10 บท จะพบว่าเป็นการเขียนขึ้นระหว่างปี 2543-2556 ซึ่งในห้วงเวลานั้นผู้เขียนคือประจักษ์ ได้ศึกษาระดับปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์ “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษา และปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)” (2545) อันเป็นฐานทางความรู้และข้อมูลที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ จากนั้นจึงเข้าเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ต่อมาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Political Science Department, University of Wisconsin-Madison, USA (2008) และศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Department of Political and Social Change, Australian National University, Australia (2013) กล่าวได้ว่า งานเขียนในเล่มนี้แวดล้อมประเด็นที่ประจักษ์ศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานทั้งหมดนี้จะไม่ใช่แค่การอภิปรายเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎี ทว่ามีเอกสารหลักฐานรองรับอย่างหนักแน่น
สิ่งที่ประจักษ์นำเสนอในหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่เราอาจเคยมองข้ามหรือละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ในแง่ที่เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างความหมายต่อเหตุการณ์ดังกล่าวโดยฝ่ายอนุรักษนิยม รวมไปถึงการทำลายมรดกตกทอดของการปฏิวัติครั้งนั้นในเวลาต่อมาโดยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประจักษ์เสนอว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเด็นเช่นที่ว่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตีความและให้ความหมายทางประวัติศาสตร์แก่เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475
การที่ประจักษ์สนใจตามล่าหาอดีตที่หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้ต่อมาเขาสามารถนำเสนอความน่าสนใจของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ประจักษ์อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการปลุกอดีตที่ซ่อนอยู่ขึ้นมาใหม่ เมื่อนักศึกษายุคเดือนตุลาย้อนกลับไปอ่านความทรงจำของบุคคลร่วมสมัยแล้วทำให้มันกลับมามีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้นอีกครั้ง ดังเช่นที่แสดงให้เห็นในการรื้อฟื้นงานเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในยุคที่นักศึกษาและปัญญาชนกระหายที่จะเสาะแสวงหาความรู้หลังจากที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะของการความเงียบที่ปกครองโดยเผด็จการทหารมาอย่างค่อนข้างยาวนาน
นอกจากนี้ ประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ในหนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีความทรงจำต่อฝ่ายซ้ายในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประวัติศาสตร์การเมืองของขบวนการนักศึกษาไทยในห้วงเวลาของการต่อสู้และยุคเกิดวิกฤตศรัทธาซ่อนอยู่เต็มไปหมด อีกทั้งบางเล่มยังน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นมรดกตกทอดที่กลายพันธุ์ในช่วงการต่อสู้กับระบอบทักษิณของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอื่นๆ อีกมากมาย
ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่อยู่ที่แหล่งข้อมูลที่ประจักษ์นำเสนอในบางบทความ เช่น เอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หนังสือ วารสาร จุลสารต่างๆ ฯลฯ ที่จัดทำโดยนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญทว่ากลับไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ในการอ้างอิงหรือกล่าวถึง หลายเล่มบรรจุเรื่องสั้น บทกวี ความเรียง ที่ท้าทายรัฐเผด็จการทหาร อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับปัญญาชนคนสำคัญของฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 หลายเล่มกลายเป็นงานคลาสสิกที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลัง ปัจจุบันเอกสารเหล่านี้หาได้ยากเต็มที บางชิ้นคนรุ่นใหม่คงแทบไม่มีโอกาสได้เห็น
แต่ประจักษ์ยังนำหลักฐานบางชิ้น เช่น พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ที่ทุกฝ่ายนำมาอ้างเพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” กลับมาอ่านใหม่ด้วยการสืบค้นเอกสารแวดล้อมเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ก่อนจะสรุปว่า เอกสารชิ้นดังกล่าวผ่านการตัดต่อความทรงจำของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างแยบคาย ส่งผลให้ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายรับคำอธิบายมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัว แน่นอนว่าการก่อตัวของแนวคิดกษัตริย์นิยมจนกล้าประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ในปัจจุบัน ก็มีผลมาจากกลวิธีคล้ายๆ กันนี้ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ประจักษ์ได้อธิบายไว้ด้วยแนวคิดการเมืองวัฒนธรรมที่มีความลื่นไหลเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ข้อเสนอสำคัญของเขาคือ การทำความเข้าใจการเมืองวัฒนธรรมว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย
สุดท้ายแล้ว มนุษย์ให้คุณค่าและความหมายต่อประวัติศาสตร์ผ่านการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุนอำนาจของตน หรือลดทอนอำนาจของฝ่ายตรงข้าม และการต่อสู้เพื่อให้คุณค่าและความหมายทางการเมืองนั้นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อุดมการณ์บางอย่างอาจจะเลือนหายไปบ้างตามกาลเวลา (และอาจจะย้อนกลับมาเมื่อบริบทเปลี่ยนไป) ในทางกลับกันอุดมการณ์บางอย่างแม้ยังทรงพลังอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะตลอดไป เพราะขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน