Publisher: | ฟ้าเดียวกัน |
Genres: | ประวัติศาสตร์ |
Authors: | เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน |
Pages: | 280 pages |
Binding: | Hardcover |
ISBN13: | 9786167667386 |
Available: | 1 |
ในแวดวงไทยศึกษาคงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ในฐานะ “ยักษ์” ที่ต้องข้ามให้พ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขาหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ไทยศึกษาหาได้เป็นความสนใจแรกเริ่มของเบน ทั้งนี้เพราะความสนใจเริ่มต้นของเบนคือเรื่องอินโดนีเซีย ดังวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกของเขาเรื่อง “The Pemuda Revolution : Indonesian Politics 1945-1946” (1967) รวมทั้งผลงานอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอินโดนีเซีย แต่เพราะเผด็จการซูฮาร์โตซึ่งขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่ปี 1968 ทนข้อวิจารณ์ของเบนไม่ได้ อีกทั้งไม่มีอำนาจจับกุมคุมขัง เช่นที่ได้ทำกับปัญญาชนท้องถิ่นอินโดนีเซีย เบนจึงเพียงถูกห้ามเข้าประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี 1972 (ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าอินโดนีเซียได้อีกครั้งในปี 1999 หนึ่งปีหลังจากเผด็จการซูฮาร์โตล้มลง)
ความสนใจเรื่องไทยศึกษาของเบนหลังจากถูกห้ามเข้าอินโดนีเซีย น่าจะเกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิดกับปัญญาชนไทยรุ่น 1960 ที่เดินทางไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่เบนสอนอยู่ ภูมิรู้เกี่ยวกับเมืองไทยของเขา นอกจากค้นคว้าเองแล้ว ยังได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษารุ่นนั้น เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และทักษ์ เฉลิมเตียรณ นอกจากนี้ ดอกผลจากการลุกฮือขึ้นของนักศึกษา ประชาชนเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ก็เป็น แรงผลักดันให้เบนตัดสินใจเรียนภาษาไทยและเดินทางมาพำนักที่ประเทศไทยในปี 1974 ในช่วงเวลานั้นเอง สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่ได้รับจากอินโดนีเซียทำให้เบนส่งสัญญาณเตือนบรรดาลูกศิษย์และคนใกล้ชิดว่า เหตุร้ายกำลังจะย่างกรายเข้ามาในไม่ช้า